วิธีแต่งนิยายแล้วส่งไปแจ่มใส
ดูเอา
ผู้เข้าชมรวม
8,716
ผู้เข้าชมเดือนนี้
14
ผู้เข้าชมรวม
มาตรฐานต้นฉบับสำหรับสำนักพิมพ์แจ่มใส |
||
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และความสะดวกในการจัดพิมพ์ ผู้ที่สนใจส่งเรื่องให้ทางสำนักพิมพ์พิจารณา กรุณาจัดหน้าตามมาตรฐานดังนี้ค่ะ |
||
1. |
จัดขอบบน ขอบล่าง ขอบซ้าย และขอบขวา ตามมาตรฐานที่โปรแกรม Word ตั้งไว้ คือ 2.54 ซม. สำหรับด้านบนและด้านล่าง และ 3.17 ซม. สำหรับด้านซ้าย และด้านขวา |
|
2. | ใช้ตัวอักษร Cordia New ขนาด 14 pt. | |
3. |
ไม่จำเป็นต้องเว้นบรรทัดทุกครั้งที่ขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้เว้นบรรทัดเฉพาะเวลาที่ต้องการขึ้นเรื่องราวใหม่ หรือคั่นแต่ละฉาก แต่ละตอนของเรื่องสั้นเท่านั้น |
|
4. |
เมื่อขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้ใช้ tab แทนการเคาะ space bar เว้นวรรค โดยระยะ tab ให้เป็นไปตาม มาตรฐานที่โปรแกรม Word ตั้งไว้ตั้งแต่แรก |
|
5. | หลังเครื่องหมายอัศเจรีย์, ปรัศนีย์, จุลภาค, ไม้ยมก, วงเล็บ และเครื่องหมายอัญประกาศ ให้เคาะเว้น 1 เคาะ | |
6. | ทุกครั้งที่เว้นวรรคให้เคาะเว้นเพียงเคาะเดียวเท่านั้น | |
7. | ตรวจเช็คคำ และตัวสะกดให้ถูกต้องที่สุด (โชว์ความรู้ภาษาไทยกันได้เต็มที่ค่ะ) | |
ทั้งนี้เพื่อความสบายตา และความสะดวกในการพิจารณางานของกองบก. นะคะ และหากเรื่องของท่านใด ได้ตีพิมพ์ก็จะประหยัดเวลาในการพิสูจน์อักษร และจัดวางหน้าด้วยค่ะ (หนังสือจะได้รับการตีพิมพ์เร็วๆ ไงคะ) |
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
งานเขียน ถือเป็นศิลปะอันล้ำลึกอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ผู้เขียนอยากจะสื่อสารแก่ผู้อ่าน บางคนถนัดที่จะใช้วิธีบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา (พวกตำราวิชาการจะใช้วิธีนี้แทบทั้งหมด) บางคนชอบใช้การอุปมา อุปไมย โดยใช้บุคคลหรือสัญญลักษณ์ บางคนใช้คำบอกเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ในขณะที่บางคนชอบใช้ สำนวนที่แปลกออกไปหรือบอกเล่าอย่างคลุมเครือแทน ทว่าสิ่งที่แสดงออกในงานเขียนของแต่ละคน มักสะท้อนถึงความรู้สึก นึกคิด นิสัยใจคอ ตลอดถึงความเชื่อและทัศนคติ ของผู้เขียนเรื่องนั้นๆ ได้ว่าเป็นคนลักษณะเช่นใด
ปัจจุบันนี้ คนไทยนิยมการอ่านหนังสือกันมากขึ้น ทำให้ตลาดของธุรกิจหนังสือในบ้านเราโตขึ้นทุกปี ทั้งกลุ่มของหนังสือ วิชาการและหนังสือวรรณกรรม ท่านที่เคยไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จะเห็นว่ามีสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมามากมายราวกับ ดอกเห็ดหน้าฝนเลยนะครับ มีตัวเลขเฉลี่ยว่าในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรามีผู้ผลิตหนังสือออกสู่ท้องตลาด ประมาณวันละ 20 ปก หากเราคิดเสียว่าพิมพ์กันปกละ 500 เล่ม ก็จะมีหนังสือเกิดขึ้นวันละ 10,000 เล่ม คงจะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เลย แต่สัดส่วนของสำนักพิมพ์และนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ คือได้รับการยอมรับจากตลาดนักอ่านมีอยู่ไม่ถึง 20 % นั่น หมายความว่าสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้น 100 แห่ง จะรอดปากเหยี่ยว ปากกามาได้ราว 10 กว่าแห่งเท่านั้นเอง ผมขอข้ามเรื่องของ ธุรกิจสำนักพิมพ์ไปก่อน โดยจะขอพูดถึงแต่เฉพาะมุมของ "นักเขียน" เท่านั้น
"นักเขียน" คือ ปัจจัยสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าสำนักพิมพ์จะอยู่รอดหรือไม่ ดังนั้นทุกสำนักพิมพ์จึงให้ความสำคัญกับนัก เขียนมาก หากเขาไม่มั่นใจเต็มร้อยกับผลงานของคุณ เขาคงไม่กล้าเสี่ยงแน่ นอกจากคุณจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเขา แต่สำนักพิมพ์ประเภทที่ว่านี้มักไปไม่รอด กล่าวคือเจ้าของสำนักพิมพ์ก็เป็นนักเขียนเอง และเพื่อนฝูงที่สนิทสนมก็อยากเป็น นักเขียนกันแทบทั้งนั้น พอหาเงินทุนได้ก้อนหนึ่งก็นำมาเปิดเป็นสำนักพิมพ์ แล้ววาดฝันว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างล้น หลามจากวงการหนังสือ พอเปิดตัวเข้าจริง กลับไม่เป็นไปตามที่คิด เงินทุนก็ร่อยหรอไปเรื่อยๆ จนต้องปิดตัวเองไปในที่สุด ในวงการหนังสือจะมีสำนักพิมพ์ประเภทนี้เกิดขึ้นและดับไปอยู่แทบจะตลอดเวลา คล้ายกับนักลงทุนกลุ่ม "แมงเม่า" ใน ตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ปาน สิ่งเหล่านี้ยืนยันให้เห็นถึงมนตร์ขลังของ "หนังสือ" ได้ว่าเปี่ยมด้วยเสน่ห์เพียงใด
อุปสรรคของการเป็นนักเขียนให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
1. ความเชื่อมั่นในตัวเอง
คนจำนวนไม่น้อยที่มีพรสวรรค์ด้านการเขียนมาแต่กำเนิด แต่ไม่ได้แจ้งเกิดเป็นนักเขียนเต็มตัวเสียที สาเหตุมาจาก "ความอาย" ไม่กล้าเอางานที่ตัวเองเขียนไปเสนอตามสำนักพิมพ์ต่างๆ สุดท้ายเลยต้องแจกให้เพื่อนอ่านเล่นเท่านั้น ลอง ถามตัวเองว่า "กลัวอะไร" กลัวเขาจะปฏิเสธเหรอ หรือกลัวเสียฟอร์ม ถ้ายังไม่เคยลองดูเลยสักครั้ง ก็ไม่น่าปล่อยให้ความวิตก กังวลมาเป็นอุปสรรคจนต้องล้มเลิกความตั้งใจเลยนะครับ ลองดูเถอะ นึกเสียว่าซื้อล็อตเตอรี่ก็แล้วกัน เผื่อจะมีโชคกับเขาบ้าง ว่าแต่คุณเชื่อมั่นในผลงานของตัวเองหรือยังว่ามันดีพอ ถ้าคิดว่ายังก็รีบปรับปรุงต้นฉบับเสียใหม่ให้ดียิ่งขึ้น พอจะบอกตัวเอง ได้ไหมว่า "คุณคือนักเขียนที่มีความสามารถสูง" ถ้าตัวคุณเองยังไม่เชื่อเลยว่าจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ แล้วจะให้แมวที่ไหนมา เชื่อเล่าครับ มีสุภาษิตจีนเขาบอกว่า "หมื่นลี้ ก็ต้องมีก้าวแรก" ตราบใดที่คุณยังไม่กล้าที่จะก้าวเท้าออกมาเป็นก้าวแรก การ เดินทางหมื่นลี้ก็ยังเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงได้หรอกครับ
2. ความตั้งใจจริง
หลายคนที่เคยเสนองานให้สำนักพิมพ์พิจารณาสัก 1-2 แห่ง เมื่อเขาไม่สนใจผลงานของตน ก็เป็นอันพับความฝันเสีย แล้ว แสดงว่าเขาไม่เชื่อคำพูดที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จจะอยู่ที่นั่น" งานเขียนเป็นงานที่แสดงถึงความตั้งใจ จริงของผู้เขียนได้ดี ว่ามีความพิถีพิถันต่อคุณภาพของงานของตนเองเพียงใด ผมเคยอ่านนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง ต้นเรื่องพระเอก เขามีชื่อหนึ่ง สมมติว่าชื่อ "สุรชัย" ก็แล้วกัน แต่พอมาถึงกลางเรื่องเขากลายเป็น "สุรพล" ผมก็งงว่านายสุรพลนี่คือใคร ตัว ละครใหม่เหรอ ครั้นพอมาถึงท้ายเรื่องเจ้าหมอนี่กลับมาชื่อ "สุรชัย" อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่างานชิ้นนี้ "สุกเอา เผากิน" ขนาดหนักเลยทีเดียว อย่าลืมนะครับ อย่าให้ความล้มเหลวชั่วขณะ มาบั่นทอนสมาธิและความมุ่งมั่นในการทำงานของคุณได้ เชื่อเถอะครับว่า "ความสำเร็จรออยู่ สำหรับทุกคนที่ทำงานด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น และไม่ย่อท้อ" หากคิดจะทำงานเพียงเพื่อเงิน ทองและชื่อเสียง คุณจะเหมือนดอกไม้ไฟ ที่เปล่งประกายได้เพียงชั่วขณะ ก่อนที่จะดับวูบไปตลอดกาล
3. การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
แม้แต่นักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังต้องเจออุปสรรคข้อนี้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่ายิ่งดังก็ยิ่งกดดันว่ายังงั้นเถอะ ลองนึกถึง หัวอกของ J.K. Rowling ผู้เขียนเรื่อง Harry Potter ดูเถอะครับ ว่าเธอต้องแบกรับความคาดหวังจากแฟนทั่วโลก ที่เฝ้ารอ คอยตอนใหม่ของ Harry Potter อยู่อย่างใจจดใจจ่อ ถ้าผลงานของเธอลดลงไปจากที่เคยสร้างไว้ เธอถูกแฟนๆ สับเละเป็นโจ๊ก โดนระเบิดแน่ แม้ว่าคุณจะเพียงเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ที่อาจจะไม่มีใครมาคาดหวังอะไรกับผลงานของคุณมากนักก็ตาม แต่คุณก็ยังจำเป็นต้องสร้างเสริมนิสัยในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเอาไว้ด้วย เพราะนี่คือลักษณะของผู้เป็นมืออาชีพของ ทุกวงการ ในการที่จะรักษาความสำเร็จที่ได้รับให้คงไว้ และพัฒนาสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงยิ่งขึ้นต่อไปอีก
ทำอย่างไรจึงจะได้งานเขียนที่มีคุณภาพ
1. ศึกษาและสังเกต
นักเขียนที่ดีต้องอ่านให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะในแนวที่คุณสนใจอยากจะเขียน หากคุณตั้งเป้าอยากเป็นนักเขียน เรื่องสยองขวัญ เพราะชอบอ่านเรื่องของ "ใบหนาด" แต่คุณไม่เคยอ่านเรื่องของ Stephen King บ้างเลย เรื่องที่คุณเขียน ออกมา ก็จะมีกลิ่นอายของคุณลุง "ใบหนาด" มาอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย เพราะคุณได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของท่าน มาเต็มๆ อ่านเยอะยังไม่พอ ต้องหมั่นสังเกตด้วยว่า จุดเด่นของนักเขียนผู้นี้เป็นอย่างไร เมื่อตั้งข้อสังเกตบ่อยๆ แล้วคุณจะ พบว่าฝีมือในการเขียนของคุณจะพัฒนาไปได้เรื่อยๆ เพราะคุณก็จะเริ่มตั้งข้อสังเกตกับผลงานของคุณเองด้วยเช่นกัน
2. ฝึกฝนและทดลอง
ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่ท้องพ่อท้องแม่หรอกครับ การฝึกฝนจะทำให้เราเกิดความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการทดลอง จะนำมาซึ่งความแปลกใหม่ในผลงานของเรา โดยเฉพาะนักเขียนที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว บางคนไม่กล้าขยับตัวออกไปจาก กรอบความคิดของผลงานเดิมๆ ที่เคยทำไว้ กลัวพลาด อย่างนี้เขาเรียกว่า "ตัน" เหมือนเวลาเราเข้าซอยตัน ก็ต้องหันหลัง เดินกลับทางเก่าที่เคยผ่านมา นักเขียนหลายคนที่ไม่ยอม "ตัน" ทางความคิด เขาไม่ยอมจำเจ หรือจมอยู่กับความสำเร็จ เดิมๆ เป็นอันขาด ระหว่างที่นักเขียนอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยชื่อเสียงเดิม กับผลงานที่ย่ำอยู่กับที่ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้อ่านจะไล่ลง จากเวที คุณเล่าครับจะเลือกเดินแบบไหนดี
3. ค้นหาตัวเองให้พบ
ในงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี จิตรกรรม ฯลฯ รวมถึงงานด้านการประพันธ์ด้วย สิ่งหนึ่งที่เหล่าศิลปิน เขาถือนักถือหนาคือ "การมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง" หากใครที่ยังไม่สามารถสร้างแนวทางเฉพาะตนขึ้นมาได้ เขายังถือ เสมือนเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ เพราะยังต้องเที่ยวเลียนแบบรูปแบบงานของคนอื่นอยู่เรื่อยไป ทักษะและประสบการณ์ ยังไม่สามารถตกผลึกออกมาเป็นรูปแบบของตนเองได้ ใครก็ตามที่ได้ "ศึกษาและสังเกต" รวมไปถึง "ฝึกฝนและทดลอง" มาอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะค้นพบรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้ในที่สุด สำหรับนักเขียนที่มีประสบการณ์สูงแล้ว กลิ่นอาย และสำนวนของผลงาน สามารถบอกให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าเป็นใคร โดยแทบไม่ต้องดูชื่อผู้เขียนเลยด้วยซ้ำ
4. เปิดใจรับคำวิจารณ์
การเปิดเผยผลงานออกสู่สาธารณะ ควรต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะจะมีคนวิจารณ์อยู่เสมอ บางคนก็ว่าดี บางคนก็ว่า ห่วย ลองเปิดใจกว้างๆ แล้วรับฟังเหตุผลของเขาดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นคำตำหนิที่มีเหตุมีผล เราก็ควรถือเอาคำตำหนิ เหล่านี้มาเป็นครูของเรา แต่ถ้าเป็นคำตำหนิที่ไม่เป็นจริงตามที่เขาพูด เราก็ปล่อยมันลอยลมไป ก็เท่านั้นเอง อย่าถือตัว ตนว่าเราเก่งแล้ว ไม่ต้องการคำแนะนำจากใครอีกแล้ว มิเช่นนั้นในไม่ช้าไม่นานเราก็จะกลายสภาพเป็น "กบที่อยู่ใน กะลาครอบ" ไปเท่านั้นเอง
5. พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง
ในโลกของการทำงานนั้น ไม่มีคำว่า "ดีที่สุด" หรือ "เก่งที่สุด" สิ่งที่ว่าดีแล้ว ย่อมทำให้ดีกว่าเดิมได้อยู่เสมอ คนที่ว่า เก่งแล้ว ก็ต้องมีคนที่เก่งกว่าอยู่เสมอ เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า "ผมเป็นคนเดินช้า แต่ไม่เคยหยุดเดิน หรือเดินถอยหลัง" นอก จากพรสวรรค์แล้ว คนที่รู้จักหาพรแสวงใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา เขาก็จะเดินก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าจะเร็วหรือช้า นั้น นั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง งานเขียนหนังสือก็ควรมีการพัฒนารูปแบบของการเขียนอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เราจะ สังเกตเห็นว่านักเขียนชั้นนำที่สามารถรักษาชื่อเสียงได้อย่างยาวนาน มักจะผลิตงานเขียนได้อย่างคงเส้นคงวา และมี รูปแบบแปลกใหม่ในการสร้างสรรค์อรรถรสให้แก่ผู้อ่านอยู่เสมอ
6. อดทน
บางทีความสำเร็จมันแวะไปเที่ยวอยู่กับคนอื่น ต้องรออีกหน่อยมันถึงจะมีเวลาแวะมาเยี่ยมเราบ้าง โดยเฉพาะงานรูป แบบใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกับใคร มักจะโดนด่าเละก่อนเป็นธรรมดา คิดเสียว่าเขายังไม่คุ้นก็แล้วกัน อย่าเพิ่งท้อถอย อย่าเพิ่ง ล้มเลิก ทำมันต่อไปเถิด หากเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แล้ววันหนึ่งคนอื่นเขาก็จะเข้าใจเอง ลองย้อนมองดูนักเขียน ชั้นนำ ทั้งของไทยและต่างประเทศเถอะครับ มีใครบ้างที่ประสบความสำเร็จได้โดยทันที โดยไม่ต้องเรียนรู้คำว่า "อดทน"
ทำอย่างไรงานเขียนของคุณจึงได้รับการยอมรับจากสำนักพิมพ์
1. รู้เขา รู้เรา
อันดับแรกคุณต้องรู้จักตัวคุณเองอย่างดีพอเสียก่อน ไม่ใช่เขาถามว่า "ถนัดเขียนแนวไหน" แล้วคุณตอบเขาไปว่า "ถนัดทุกแนว" เป็นอันจบเห่ ไม่มีใครเชื่อหรอกครับว่าคุณจะมีอัจฉริยภาพถึงขนาดนั้น ระบุออกมาให้ละเอียดที่สุดเลย ว่าเรื่องของคุณเป็นแนวไหน เช่น "แนวคอมพิวเตอร์" มันก็ยังเป็นคำตอบที่กว้างมากเกินไป ควรระบุให้ชัดเจนไปเลย เช่น "การใช้งาน CAD/CAM ในวงการอุตสาหกรรม" นอกจากจะรู้ข้อมูลของตนเองแล้ว คุณยังควรทราบข้อมูลของสำนัก พิมพ์ที่คุณสนใจจะไปเสนองานเขาด้วยว่า เขามีนโยบายในการตีพิมพ์งานประเภทใดบ้าง หากคุณทะเร่อทะร่าเอางาน เขียน "การเขียนโปรแกรมภาษาซี" ไปเสนอแก่สำนักพิมพ์ธรรมสภา ซึ่งเขาพิมพ์แต่หนังสือธรรมะ หรือเอานิยาย "ผัว ดิฉันและเมียน้อยทั้งเจ็ด" ไปเสนอกับบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น ไม่ว่างานเขียนของคุณจะเลิศเลอเพียงใด มันก็ต้องลงไปอยู่ ในตะกร้าขยะของบรรณาธิการอย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนเสนองานกับใคร คุณควรรู้จักกับเขาบ้างพอสมควร
สำหรับสำนักพิมพ์แจ่มใสนั้น แนวหนังสือที่เรารับพิจารณา คือ "อ่านสนุก ปลุกกำลังใจ ให้ความรู้" ซึ่งฟังดูกว้างมาก เหลือเกิน ถ้าคุณไม่แน่ใจก็อีเมล์หรือโทรศัพท์มาคุยกันก่อนได้ ไม่ต้องเกรงใจเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยี บันเทิง ท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ถ้ากรณีอย่างนิยาย "ผัวดิฉันและเมียน้อยทั้งเจ็ด" นี่เราไม่รับ ทั้งที่ผู้ เขียนอาจแย้งได้ว่า "มันอ่านสนุกนะ" แต่บังเอิญเราไม่รู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียน เกี่ยวกับนิยายฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี งามของสังคมทำนองนี้ หรือตำราวิชาการ "การผ่าตัดหัวใจเทียมด้วยเทคนิคใหม่ล่าสุด" อันนี้ถือเป็นการ "ให้ความรู้" ก็จริง แต่เราคงรับไม่ได้ เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทั่วประเทศไทยมีไม่ถึง 20 คน เป็นต้น
2. รู้จักสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของงาน
ก่อนเริ่มงานเขียน คุณควรสำรวจท้องตลาดเสียก่อนว่า แนวที่คุณกำลังสนใจจะเขียนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีคน เขียนเอาไว้เยอะหรือยัง คุณต้องสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของงานเขียนของคุณขึ้นมาให้ได้ เช่น คุณอยากจะ เขียนสารคดีท่องเที่ยวเกี่ยวกับจังหวัดอยุธยา เพราะคุณมีข้อมูลดิบเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนี้พร้อมแล้ว แต่ในร้านหนังสือตอนนี้ มีเรื่องของคู่มือเที่ยวอยุธยาอยู่แล้ว 5 เล่ม ทุกเล่มก็พาเที่ยวพระราชวังบางปะอินเหมือน กันหมด อย่างนี้คุณต้องทำการบ้านให้ชัดเจนมาก่อนว่า งานของคุณโดดเด่นและแตกต่างจากเล่มอื่นอย่างไรบ้าง ถ้าพาเที่ยวบางปะอินอีกละก็ โน่น ลงตะกร้าแน่นอน (เดี๋ยวนี้นักเขียนรุ่นใหม่นิยมส่งต้นฉบับทางอีเมล์ ก็ต้องเปลี่ยน จากตะกร้าเป็น Recycle Bin แทนครับ)
ทราบมั้ยครับ ว่าบรรณาธิการของบางสำนักพิมพ์ (รวมถึงแจ่มใสด้วย) เขาให้ความสำคัญตรงจุดนี้สูงมาก มากกว่า ถ้วยรางวัลเกียรติยศที่พ่วงมากับงานเขียนของคุณเสียอีก ไม่เป็นความจริงเลย ที่ว่าเมื่อคุณเขียนหนังสือที่มีบรรยากาศ คล้ายคลึงกับเรื่องของทมยันตี แล้วหนังสือของคุณจะขายดีเหมือนของทมยันตี ตรงจุดนี้พาให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ กอดคอกันเจ๊งมานักต่อนักแล้วครับ บางคนก็ชอบอ้างว่า "คุณบอกอนี่ตาไม่ถึง ขนาดคุณทมยันตี เค้ายังเคยวิจารณ์ งานชิ้นนี้ว่าน่าสนใจมากเลย" ถามจริงๆ เถอะ คุณทมยันตีเขาสามารถพูดความจริงด้วยคำว่า "ห่วยแตก" ออกมาได้ ด้วยหรือครับ
3. ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาที่พบบ่อยอีกข้อหนึ่งของนักเขียนส่วนใหญ่ ที่ส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาก็คือ "โดนดองเรื่อง" คือตอนที่เสนองานไม่ค่อยกล้าสอบถามให้เรียบร้อยเสียก่อน ว่าทางสำนักพิมพ์ใช้เวลาพิจารณานานไหม สามารถ ติดตามความคืบหน้าได้จากใคร ถือเสียว่าส่งเรื่องแล้วก็แล้วกันไป บางรายโดนดองเรื่องเอาไว้เป็นปี พอเอาเรื่อง ไปให้สำนักพิมพ์อื่นเขาพิจารณา แล้วเกิดผ่าน กำลังจะได้รับการตีพิมพ์ ก็เกิดเหตุการณ์รถไฟชนกัน คือสำนัก พิมพ์ที่เคยดองเรื่องเอาไว้ทีแรก เกิดอยากจะตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้เช่นกัน กรณีเช่นนี้ผู้ที่ได้รับความเสียหายคือ ตัวนักเขียนเอง เพราะจะเสียเครดิต เพื่อป้องกันปัญหาเช่นนี้ ทางนักเขียนควรตกลงกับสำนักพิมพ์ให้แน่ชัดใน ตอนต้นว่า จะต้องใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด และเมื่อครบกำหนดเวลาก็ต้องติดต่อสอบถามว่าผ่านการพิจารณา หรือไม่ ถ้าต้องการไปเสนอให้สำนักพิมพ์อื่นพิจารณา ควรแจ้งแก่สำนักพิมพ์เดิมให้เรียบร้อยว่าขอถอนเรื่องแล้ว
ความจริงแล้ว เหล่าบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ทั้งหลายนั้น ท่านมิได้มีเจตนาเตะถ่วงเรื่องแต่อย่างใด เพียง แต่นิสัยแบบไทยๆ เราก็คือเป็นคนขี้เกรงใจ กลัวว่าถ้าบอกออกไปว่า "เรื่องของคุณไม่ผ่านการพิจารณา" แล้ว จะเป็นการทำร้ายจิตใจของนักเขียนผู้นั้นจนเกินไป จึงแอบเอาผลงานหย่อนลงถังขยะไปเงียบๆ แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ทางที่ดีควรคุยกันในตอนแรกให้เรียบร้อย เช่น ต้องใช้เวลาพิจารณา 3 เดือน พอครบกำหนด 3 เดือน คุณก็ลองติดต่อไปดูอีกทีว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว ถ้ายังไม่มีอะไรคืบหน้า คิดว่าไม่มีหวังแล้ว ก็ทำเรื่องขอต้นฉบับคืน (แค่ทำเรื่องเฉยๆ เพราะต้นฉบับจริงของคุณอาจกลายเป็นปุ๋ยไปแล้ว) เท่านี้ก็จบลงด้วยดีกันทุกฝ่าย คุณก็ไม่ต้อง เลือกระหว่างโดนดองเรื่องไปเรื่อยๆ หรือต้องทนฟังคำว่า "เรื่องของคุณไม่ผ่านการพิจารณา" เมื่อถอนเรื่องเรียบ ร้อยแล้ว คุณก็สามารถเอาผลงานไปเสนอที่อื่นต่อไปได้อย่างสบายใจ เผื่ออนาคตคุณเกิดมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา ผลงานเก่าๆ ที่อยู่ตามถังขยะของสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็อาจจะกลับมีค่าขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้
4. สรุปผลชัดเจน
ไม่ว่าเรื่องของคุณจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ก็ตาม คุณควรได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง เป็นต้นว่า สาเหตุที่งานของคุณไม่ผ่านการพิจารณานั้นเพราะเหตุใด สำนวนไม่ดี หรือพล็อตเรื่องไม่รัดกุม ฯลฯ ถ้าผลงานคุณ ไม่ดีจริงๆ (ไม่ค่อยมีใครเขากล้าบอกคุณตรงๆ หรอกว่าผลงานคุณห่วยแตก ต้องคิดดูเอาเองด้วยใจที่ไม่อคติเกิน ไปนัก) ขืนเอาไปเสนอที่อื่น เขาก็คงไม่รับอีกนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า สู้เอากลับไปขัดเกลาเรื่องเสียใหม่ดีกว่า ใส่ตะกร้าล้างน้ำซะ ถือว่าวันนี้ยังไม่ใช่วันของเรา ในทำนองกลับกันถ้าเรื่องของคุณผ่านการพิจารณาก็อย่าเพิ่ง ดีใจจนเกินไป บางที 3 ปีผ่านไปแล้วยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เลย อันนี้แสบกว่าไม่ผ่านการพิจารณาเสียอีก คุณจึง ต้องสอบถามจากสำนักพิมพ์ให้ชัดเจนว่าผลงานของคุณจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อใด และรายละเอียดของการจัดทำ สัญญา ซึ่งมีการระบุค่าตอบแทนที่คุณจะได้รับไว้อย่างชัดเจน (อย่ากลัวว่าใครเขาจะหาว่าคุณงกเลย โดยเฉพาะ ถ้าคุณไม่ได้ทำอาชีพอื่นใด นอกจากเขียนหนังสือ ก็คุณกินอากาศแทนข้าวได้เสียเมื่อไหร่เล่า)
แนวทางภาคปฏิบัติในการผลิตงานเขียน A. กรณีที่เป็นหนังสือซึ่งคุณเขียนขึ้นเอง
1. กำหนดเรื่องที่จะเขียน
คุณควรวางแผนเสียก่อนว่า อยากจะเขียนหนังสืออะไร รูปแบบการนำเสนอเป็นอย่างไร กลุ่มคนอ่านคือคนกลุ่ม ไหน กำหนดระยะเวลาคร่าวๆ ขึ้นมา ว่าจะเริ่มเขียนเมื่อไหร่ และควรจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่
2. กำหนดเค้าโครงเรื่อง
เริ่มลงรายละเอียดในแผนงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าเป็นหนังสือแนววรรณกรรมหรือนวนิยาย ก็ควรเริ่มวางพลอต เรื่องและตัวละครต่างๆ เอาไว้คร่าวๆ แต่ถ้าเป็นหนังสือสารคดีหรือหนังสือวิชาการ ก็ควรกำหนดเนื้อหาของหนังสือว่า จะมีกี่บท แต่ละบทจะกล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง ถึงขั้นตอนนี้คุณน่าจะพอมองเห็นว่าหนังสือของคุณมีความยาวประมาณ เท่าใดแล้ว
3. หาข้อมูล/วัตถุดิบ
จากแผนงานที่คุณวางไว้ คุณควรทราบแล้วว่า คุณต้องการข้อมูลหรือวัตถุดิบ เช่น ภาพถ่ายหรือเอกสารประกอบ อะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าใดจึงจะพอสำหรับงานเขียนของคุณ หรือถ้าหากจะต้องมีการสัมภาษณ์บุคคล หรืองานภาค สนามต่างๆ ก็เริ่มกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนเลยว่าจะทำเมื่อใด หรือจะต้องนัดหมายประสานงานกับใครบ้าง
4. ลงมือเขียน
เริ่มลงมือเขียนเลย อย่าลืมให้ความสำคัญกับการจัดการเวลา เช่น สิ้นเดือนนี้จะต้องเขียนเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์ จะปิดเล่มได้เมื่อไหร่ ระหว่างนี้ถ้าคุณจะเริ่มติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อเสนอตัวอย่างผลงานบางส่วนก่อนก็สามารถทำได้ เลย อ้อ เวลาเขียนหนังสืออย่าลืมหาพจนานุกรมติดตัวเอาไว้ด้วย หนังสือของคุณจะได้ไม่มีภาษาวิบัติ
5. ขัดเกลาสำนวน
เมื่อเขียนจนเสร็จบริบูรณ์แล้ว ควรหาเวลานั่งอ่านต้นฉบับรวดเดียวให้จบเลย จะอ่านด้วยตัวเองหรือวานเพื่อน ฝูงมาช่วยอ่านก็ตามสบาย นอกจากตรวจสอบคำสะกดต่างๆ ให้ถูกต้องแล้ว ควรมีการขัดเกลาสำนวนในบางจุดที่คุณ ยังไม่พอใจ ให้มีความสละสลวยทางภาษามากยิ่งขึ้น
6. เสนองาน
นำต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์แล้วของคุณ ไปเสนอแก่สำนักพิมพ์ที่คุณคิดว่าเหมาะสม แล้วสอบถามให้ชัดเจนว่า จะต้องใช้เวลาในการพิจารณางานของคุณนานเท่าใด หากต้องการทราบความคืบหน้าให้สอบถามจากใคร ตำแหน่ง อะไร
ถ้าคุณต้องการเสนอผลงานให้ทางสำนักพิมพ์แจ่มใสพิจารณา การส่งต้นฉบับอาจส่งโดยทางอีเมล์ editor@jamsai.com ก็น่าจะสะดวกดีกับทุกฝ่าย ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยต้นฉบับควรเป็นไฟล์เอกสาร ของไมโครซอฟต์เวิร์ด (95 หรือ 97 ก็ได้) และถ้ามีภาพประกอบก็ควรเป็นไฟล์นามสกุล .TIF หรือ .EPS (ที่ความละเอียด 150-300 DPI) อย่าใช้ภาพกราฟฟิคนามสกุล JPEG หรือ GIF เพราะภาพอาจมีความละเอียดต่ำ เกินกว่าจะนำไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์
7. ติดตามผล
การติดตามผลงาน อย่าลืมระวังเรื่องของกาละเทศะด้วย นักเขียนบางคนนั้น จะด้วยความตื่นเต้นหรืออย่าง ไรก็ไม่ทราบ โทรศัพท์วันละหลายครั้งเพื่อสอบถามความคืบหน้า จนถึงขนาดสร้างความรำคาญและบรรยากาศ ที่ไม่ดี ระหว่างตัวนักเขียนกับเจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ที่ไปเสนองาน ส่วนบางคนนั้น หลังจาก ที่เสนองานให้ไปพิจารณาแล้ว กลับไม่กล้าติดต่อไปหาอีกเลย เพราะเกรงว่าจะไปกวนใจเขา หลายเดือนผ่าน ไปปรากฏว่าเขาลืมไปแล้ว พอไปถาม เขาเพิ่งหยิบเรื่องออกมา แล้วให้ร้องเพลงรอต่อไป
8. ประชาสัมพันธ์
เมื่อคุณหาสำนักพิมพ์ที่จะรองรับงานของคุณได้แล้ว อยากแนะนำให้คุณประชาสัมพันธ์หนังสือของคุณเอง ด้วยอีกแรงหนึ่ง จะดีกว่าการไปรอให้สำนักพิมพ์เขาจัดการให้อย่างเดียว คำว่า "ประชาสัมพันธ์" มาจาก ประชา + สัมพันธ์ ดังนั้นในฐานะนักเขียน คุณควรสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านเขาให้มาก กรณีนี้พวกดาราหรือคน ดังเขาจะได้เปรียบ เพราะเวลาเปิดตัวหนังสือคนดัง สื่อต่างๆ ก็มักจะให้ความสนใจ แต่ถ้าคุณเป็นลูกชาวบ้าน ธรรมดาก็ไม่เป็นไร ทำเท่าที่กำลังของคุณจะอำนวย อย่าฝืนทำจนเกินตัว เกินกำลังไป จะกลายเป็นผลเสีย มากกว่าผลดี
1. เสนอเรื่อง
ถ้าคุณเป็นนักอ่านหนังสือต่างประเทศอยู่เป็นประจำ หากคุณพบหนังสือที่มีเนื้อหาสาระดี น่าแปลออกมา เป็นหนังสือภาษาไทย คุณสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักพิมพ์ที่คุณสนใจจะร่วมงาน เพื่อให้เขาติดต่อ ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือนั้นมาเพื่อพิมพ์จำหน่ายเป็นภาษาไทย
สำหรับสำนักพิมพ์แจ่มใส คุณสามารถส่งเรื่องมาที่ editor@jamsai.com โดยระบุชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ต่างประเทศ และเนื้อเรื่องโดยย่อของหนังสือเล่มนั้น ตลอดจนจุดเด่นที่คุณคิดว่าน่าสนใจ
2. ติดต่อลิขสิทธิ์
ควรให้สำนักพิมพ์ที่คุณติดต่อ เป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ อย่าเพิ่งรีบ แปลโดยเด็ดขาด จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้บางครั้งใช้ เวลาค่อนข้างนาน คงต้องอดทนรอคอยไปก่อน เมื่อติดต่อลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยเจรจาในราย ละเอียดกับสำนักพิมพ์นั้นอีกครั้ง ว่าคุณจะได้ค่าเหนื่อยเท่าใด
3. เริ่มลงมือแปล
ในการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศไทยเป็นภาษาไทยนั้น ถ้าพอมีเวลา ผมอยากแนะนำให้คุณอ่าน หนังสือที่ต้องการแปล ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างน้อย 2-3 รอบ พยายามสรุปเนื้อความและบรรยากาศ ตลอดถึง อารมณ์ที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดมาสู่ผู้อ่านให้เข้าใจเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มลงมือแปล งานแปลของคุณ ก็จะราบรื่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นการแปลแบบคำต่อคำ ซึ่งบางทีเมื่อเรียงเป็นประโยคแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ยังอาจมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางตอนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของนักอ่านชาวไทยด้วย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่การดัดแปลงไปจากเดิมมากจนเกินไป
ต่อปาย~(มีอีก)
ผลงานอื่นๆ ของ eilf ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ eilf
ความคิดเห็น